การบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
Abstract
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาสภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก 2)เพื่อเปรียบเทียบการบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก 3)เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะการบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารและครูวิชาการ จำนวน 210 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานด้วยค่า t-test และ F-test วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยรวม อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดไปหาต่ำสุด ได้แก่ การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ด้านการวัดผลประเมินผล ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ด้านการพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา และด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2. ผลการเปรียบเทียบสภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก จำแนกตามสถานภาพ และระดับการศึกษา ไม่แตกต่างกัน ส่วนประสบการณ์ในการทำงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการตามหลักไตรสิกขาในโรงเรียนขนาดเล็ก ควรจัดเนื้อหาและประสบการณ์ให้สอดคล้องกับชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนอย่างสม่ำเสมอ ประเมินผลเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพต่อการจัดการศึกษาต่อไป